วันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

การฝึกไวโอลิน


การหนีบไวโอลิน
1. การเล่นไวโอลินนั้น ร่างกายต้องเป็นธรรมชาติ ห้ามเกร็ง โดยส่วนใหญ่แล้วเราจะถูกฝึกให้หนีบไวโอลินมาตั้งแต่แรก พอเริ่มเมื่อยก็จะปล่อยให้ไวโอลินตก แต่ถ้าฝึกให้ถูกต้องตั้งแต่แรกก็จะไม่เกร็ง

2. ท่ายืนควรจะสบายๆ ไม่เกร็งหรือไม่อ่อนจนเกินไป ท่ายืนต้องตรง เปิดด้านหน้า ลำตัวไม่บิดหรือเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง เริ่มต้นจากท่าเตรียมพร้อม และรักษาความรู้สึกอันนั้นไว้ตลอด


3. การใช้ที่รองไหล่นั้นแล้วแต่ความถนัด ห้ามยกไหล่ สิ่งสำคัญก็คือ พื้นฐานที่ง่ายที่สุดต้องดีและถูกต้องก่อน เพราะเมื่อเจอแบบฝึกหัดที่ยากๆ จะยิ่งเกร็ง ห้ามเกร็งส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย ปล่อยน้ำหนักศีรษะตามธรรมชาติ หนีบนิดหน่อยพอได้ ข้อสำคัญคือการหนีบไวโอลินโดยไม่เกร็ง วางไวโอลินให้ สาย ไวโอลินขนานไปกับพื้น ไม่ใช่ตัวไวโอลินที่ขนาน เพราะนั่นเท่ากับว่าสายจะเอียงไปทางหัวไวโอลิน เคล็ดลับก็คือ ให้ลองทิ้งน้ำหนักตัวให้เอนไปข้างหน้า และลองเอนตัวไปด้านหลังเพื่อหาน้ำหนักของร่างกายที่สมดุล

4. นิ้วโป้ง ให้ยกขึ้นมาตรงๆ เพื่อรับคอไวโอลิน โดยให้สัมผัสคอไวโอลินเบาๆ ไม่ต้องออกแรงกดจนเกร็ง เมื่อกดนิ้ว 1 – 4 มือต้องอยู่ในตำแหน่งที่แน่นอน นิ้วโป้งต้องไม่โยกเยกไปมา



5. องศาการกดนิ้วมือซ้ายไม่แบนหรือชันจนเกินไป ควรจะเป็น 45 องศา โดยกดตรงแนวกึ่งกลางเล็บเช่นกัน ถ้าเป็นการเล่นเทคนิค Double stop คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจผิดว่าต้องกดให้แบบ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด จริงๆ แล้วคือการกดในแบบที่กล่าวมา แต่กดให้อยู่ระหว่างสายทั้ง 2

6. เทคนิค Vibrato ต้องไม่ทำลายศูนย์กลาง (Center) ของโน้ตตัวนั้น แต่เป็นการดึงเสียงลง จะกว้างหรือแคบก็แล้วแต่ความต้องการของผู้เล่น แต่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่าเทคนิค Vibrato การอยู่ที่การโยกนิ้วโป้งแรงๆ

 การจับคันชัก
1. การจับคันชักต้องแน่นแต่ยืดหยุ่น นิ้วโป้งมือขวาต้องงอเข้าด้านใน ถ้านิ้วโป้งงอออกจะทำให้แขนเกร็ง การจับคันชักไวโอลินที่ถูกต้องนั้น บริเวณกึ่งกลางเล็บของปลายนิ้วกลางจะอยู่ที่ปลาย Frog ด้านที่ติดกับด้ามคันชัก ตำแหน่งของนิ้วกลางจะตรงกับนิ้วโป้ง ความสำคัญของนิ้วก้อยคือการรับน้ำหนักและบังคับทิศทางของคันชัก

2. เวลาลากคันชักมาจนถึงปลายคันชักนั้น นักไวโอลินส่วนใหญ่จะหักข้อมือเข้ามามากจนเกินไป ซึ่งจะทำให้มือและแขนเกร็ง ดังนั้นเวลาลากคันชักจนสุดปลาย นิ้วกลางจะเข้ามาอยู่บนด้ามคันชักลึกขึ้น เพื่อที่ข้อมือจะได้ไม่หักเข้ามามากจนเกินไป เวลาเล่นจะได้ไม่เกร็ง นิ้วก้อยควรจะอยู่หลังด้ามคันชัก เพื่อเวลาที่ลากคันชักขึ้นนั้น นิ้วก้อยจะได้พลิกกลับขึ้นมาอยู่บนด้ามคันชักพอดี

3. การฝึกลากสายเปล่าในช่วงแรกๆ นั้น ควรให้หน้าของหางม้าสัมผัสกบสายเต็มๆ การลากคันชักพยายามให้คันชักทำงานมากที่สุด เวลาที่เราลากคันชักนั้น สายไวโอลินจะสั่นเองตามธรรมชาติ เช่นเดียวกับเวลาที่เราเล่นโดยการดีดสาย (Pizzicato) แต่เรามักจะพยายามไปฝืนมันโดยการออกแรงกดมากนเกินไป

4. เทคนิคการลากคันชักแบบรัสเซียในยุคปฏิวัตินั้นจะต่างจากเทคนิคของสำนักเยอรมันและฝรั่งเศส ซึ่งองศาของแขนจะเปิดกว่า ทำให้สามารถน้ำเสียงที่หลากหลายกว่าเทคนิคการเล่นไวโอลินของสำนักเยอรมันและฝรั่งเศส ซึ่งให้น้ำเสียงที่เบามาก มีคำกล่าวว่าการฝึกคันชักแบบเทคนิคเยอรมันนั้นต้องหนีบหนังสือที่แขนไปด้วย ทำให้องศาของแขนขวาปิด น้ำเสียงที่ได้จึงเบา พอหลังการปฏิวัติในรัสเซีย พวกนักไวโอลินเก่งๆ ต่างอพยพไปอยู่ในยุโรปหรือสหรัฐอเมริกากันหมด ทำให้เทคนิคการเล่นแบบรัสเซียได้รับความนิยมแพร่หลาย กับคำถามที่ว่าในปัจจุบันนั้นเทคนิคการเล่นแบบไหนดีกว่ากัน ในอดีตที่ยังแบ่งเป็นสำนักต่างๆ นั้นยังจะพอตอบได้ แต่ปัจจุบันเทคนิคการเล่นได้ถูกปรับให้เป็นแบบกลางๆ ที่เป็นมาตรฐานไปแล้ว จะไม่ค่อยมีใครเรียกว่าเป็นเทคนิคการเล่นไวโอลินสำนักต่างๆ อีกต่อไปแล้ว

5. เทคนิคการเล่น Spiccato ที่ถูกต้องนั้น จะต้องวางคันชักที่สายก่อนแล้วถึงยกขึ้น แต่พอเห็นนักไวโอลินที่เก่งๆ ทำเร็วๆ เราอาจจะนึกว่าคันชักเด้งออกจากสาย ส่วนเทคนิค Martele นั้น ให้กดคันชักที่สายก่อน พอลากแล้วถึงปล่อย ทั้ง 2 เทคนิคควรเริ่มฝึกจากช้าๆ ไปก่อน

6. ต้องรู้จักเลือกใช้เทคนิคที่เหมาะสมเพื่อหาเสียงที่ต้องการ (ฝึกความยืดหยุ่นของนิ้วมือขวา)

การฝึกไวโอลิน
1. ก่อนเล่นต้องกำหนดอัตราจังหวะ (Set tempo) ในใจก่อน และต้องรู้สึกไปกับจังหวะตลอดเวลา การฝึกโดย เล่นกับจังหวะ และ รู้สึกกับจังหวะ นั้นต่างกัน เช่น ถ้าเราฝึกกับ Metronome ถูกต้องตรงตามจังหวะทุกอย่างแต่เราไม่รู้สึกไปกับมัน ซึ่งจะต่างกับการที่เราฝึกกับ Metronome โดยที่รู้สึกถึงจังหวะไปด้วย จะทำให้เราเข้าใจและเน้นจังหวะได้ถูกต้อง

2. คุมจังหวะให้ได้ก่อน เพราะคนดูจะรับรู้ถึงจังหวะได้ก่อน ถ้าจังหวะสะดุดจะสื่อสารต่อไม่ได้ โดยเฉพาะการเล่นกับนักดนตรีคนอื่นๆ

3. ควรจะฝึกแบบฝึกหัด Etude, Caprice และเพลงต่างๆ สลับกันไป อาจจะเริ่มจาก Etude ของ Kayser หรือ Mazas ที่ไม่ยากจนเกินไป

4. ใช้แบบฝึกหัด Scale Stusies ของ Ivan Galamian (อาจารย์ของนักไวโอลินที่มีชื่อเสียง เช่น Perlman, Zukerman, Rabin) ฝึกโดยเพิ่มความเร็วของคันชักขึ้นเรื่อยๆ เช่น จากเขบ็ต 1 ชั้น, 2 ชั้น, โน้ต 3 พยางค์ และควรฝึกโดยใช้ Metronome ควบคู่ไปด้วย อย่าลืมเรื่องการฝึกโดยต้องรู้สึกไปกับจังหวะตลอดเวลา

5. ท่าฝึกความยืดหยุ่นของข้อมือ 5 ท่า ซึ่งควรฝึกเป็นประจำทุกวัน ครูบางคนจะสอนแค่ในชั่วโมงแรกๆ เท่านั้น หลังจากนั้นจะไม่เน้นอีก ทำให้ข้อมือขาดความยืดหยุ่น ซึ่งต่อไปจะจำเป็นมากในการฝึกในเทคนิคที่สูงขึ้น วิธีการฝึกคือ จับคันชักในแนวตั้ง ยกคันชักขึ้นลงโดยใช้เพียงข้อนิ้วทั้งหมด (ไม่ใช้ข้อมือ อาจจะใช้มือซ้ายจับข้อมือขวาเอาไว้เพื่อไม่ให้เผลอไปใช้ข้อมือหรือแขนเป็นตัวยก) หลังจากนั้นให้ฝึกแบบเดิม แต่เปลี่ยนทิศทางของนิ้วเป็น ซ้าย-ขวา (คันชักอยู่ในแนวดิ่งตามเดิม), ซ้าย-ขวา (แบบที่ปัดน้ำฝน), หน้า-หลัง (เข้าหาตัวและออกจากลำตัว), หมุนคันชักเป็นวงกลมอยู่กับที่

6. ฝึกลากสายเปล่าไม่ให้เสียงเพี้ยน หลายคนอาจจะสงสัยว่าลากสายเปล่าแล้วเสียงจะเพี้ยนได้อย่างไร สิ่งที่ทำให้เสียงเพี้ยนก็คือการลากคันชักมือขวาที่ไม่สม่ำเสมอทำให้เสียงที่ออกมาเพี้ยนจากเสียงสายเปล่าของมัน ควรฝึกลายสายเปล่าให้เสียงออกมาสม่ำเสมอตลอดคันชัก ส่วนการกดนิ้วให้ดูเสียงคู่ (Synchronize harmonic) ของนิ้วที่ 3 กับ 4 เมื่อกดนิ้ว 3 บนสาย 3 -2-1 ให้ดูว่าสายที่อยู่ต่ำกว่าสั่นหรือไม่ ถ้าสายที่อยู่ต่ำกว่าสั่นไปด้วย แสดงว่าเรากดนิ้วได้โน้ตที่ตรงเสียงของมัน เช่น ถ้ากดโน้ตตัว D นิ้ว 3 สาย 2 ให้ดูว่าสายเปล่าเสียง D สาย 3 สั่นไปด้วยหรือไม่ ส่วนการกดนิ้ว 4 บนสาย 4-3-2 นั้น ให้ดูว่าสายที่อยู่สูงกว่าสั่นหรือไม่ ถ้าสายที่อยู่ต่ำกว่าสั่นไปด้วย แสดงว่าเรากดนิ้วได้โน้ตที่ตรงเสียงของมัน

7. เทคนิคการใช้คันชักเพื่อให้ได้สียงที่ต้องการมี 3 แบบ
1. สีให้ใกล้หย่องหรือฟิงเกอร์บอร์ด ซึ่งจะให้สียงที่ดังและเบาต่างกัน 2. ความเร็ว ถ้าลากคันชักเร็วเสียงจะดัง ถ้าลากคันชักให้ช้าลง เสียงจะเบา
3. น้ำหนัก ถ้าออกแรงกดมากเสียงจะดัง ถ้าออกแรงกดน้อยเสียงจะเบา ควรจะฝึกเทคนิคคันชักหลายๆ แบบเพื่อดูว่าเสียงที่ได้แตกต่างกันอย่างไร และทดลองนำไปใช้กับเพลงที่กำลังเล่น เพื่อหาดูว่าเสียงไหนคือเสียงที่เราต้องการ

8. ฝึกลากสายตั้งแต่โคนจนถึงปลายคันชัก เพื่อขยายขอบเขตการใช้คันชักให้ได้เต็มที่

9. การฝึกแบบฝึกหัดต่างๆ ควรฝึกกับ Metronome ทุกครั้ง

10. ฝึกไล่สเกล 3 สเกลตั้งแต่โพสิชั่น 1-2-3-4... ขึ้นไป

11. ในขณะเล่น อย่าโยกตัวมากจนเกินไป เพราะจะทำให้สมาธิและสมดุลของร่างกายในขณะเล่นเสียไป

12. พยายามจดจำโน้ตให้ได้เพื่อให้สมาธิอยู่กับเพลง ในบทไหนที่เราต้องการจำ ให้หันแสตนด์โน้ตออกและจดจำโน้ตกับทิศทางการใช้คันชักให้ได้

13. พยายามตีความบทเพลง เพราะบางอย่างนั้น ผู้ประพันธ์สามารถบอกได้ด้วยสัญลักษณ์ต่างๆ แต่บางอย่างก็ไม่สามารถอธิบายได้เลยในตัวโน้ต

14. นักดนตรีหลายๆ คนมักจะละเลยความสำคัญของจังหวะยก (Up beat) อย่าลืมฝึกโดยเน้นจังหวะยกด้วย

15. ถ้าเมื่อไหร่ที่รู้สึกว่าใช้คางกดไวโอลิน แสดงว่าไวโอลินอยู่ข้างหน้ามากเกินไป

16. ถ้าเห็นโน้ตรัว (Trill) และ (Grace note) นั้น ให้เน้นเสียงของโน้ตตัวตัวหลัง

17. การฝึกเรื่อง Intonation ที่สำคัญคือเรื่อง 1/2 เสียงกับ 1 หนึ่งเสียงเท่านั้น ที่เหลือล้วนพัฒนาไปจากนี้

18. จำไว้ว่าทุกอย่างต้องมีทักษะ ต้องอาศัยเวลาในการฝึก ในครั้งแรกๆ อาจจะยังทำไม่ได้ เมื่อฝึกให้ชำนาญแล้วย่อมสามารถทำได้แน่นอน

ที่มา : http://value.exteen.com/20080325/entry-1

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น